เที่ยวน่านให้ถึงน่าน
0
กำลังได้รับความสนใจ
สถานที่น่าสนใจ 16 แห่ง

แผนที่

Your STAMM Book

มาสะสม STAMM เพื่อเก็บบันทึกเรื่องราวดีๆ ระหว่างทางกัน

ปู่ม่านย่าม่าน วัดภูมินทร์

โมนาลิซ่าเมืองน่าน วัดภูมินทร์

ภาพจิตรกรรมฝาผนัง คัทธนกุมารฯ วัดภูมินทร์

สถูปเจดีย์พระมาลัยโปรดโลก

พิพิธภัณฑ์วัดภูมินทร์

ร้านขายของฝากวัดภูมินทร์

อุโบสถหลวง วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร

พระธาตุข้างค้ำหรือเจดีย์ช้างค้ำ วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร : สักการะขอพรให้มีผู้อุปถัมภ์ค้ำทู พบแต่สิ่งที่เป็นสิริมงคล

หอพระไตรปิฎก วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร

หีบเก็บพระไตรปิฎกโบราณ วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร

วิหารพระเจ้าทันใจ วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร

หอคำ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน

งาช้างดำ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน

เครื่องปั้นดินเผาเคลือบ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน

พระพุทธรูปปางมารวิชัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน

ซุ้มลีลาวดี (พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน)

"เที่ยวน่านให้ถึงน่าน" พาเที่ยว 3 สถานที่ มาน่านทั้งที่ต้องมาให้ถึงน่าน 

น่าน  สถานที่อันเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมกลางเมืองน่าน ซึ่งทั้ง 3 สถานที่ต่างเป็นจุดสำคัญของเมืองน่าน ให้ได้เดินเช็คอินและตามหาภารกิจสนุก ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังในวัดภูมินทร์ วิหารและเจดีย์ที่น่าเลื่อมใสในวัดพระธาตุช้างค้ำ และสถาปัตยกรรมอันงดงามภายในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติน่าน ตามไปดูกันเลย

----
วัดภูมินทร์
#วัดภูมินทร์ #ปู่ม่านย่าม่าน #ภาพกระซิบรัก #จิตรกรรมฝาผนัง #ฮูบแต้ม #สถูปเจดีย์พระมาลัยโปรดโลก

วัดภูมินทร์เป็นวัดเก่าแก่ของจังหวัดน่านที่มีเอกลักษณ์จากสถาปัตยกรรมของพระอุโบสถทรงจตุรมุขที่รวมพระอุโบสถและวิหารไว้ในอาคารเดียวกัน อาคารทรงจตุรมุขหนึ่งเดียวในประเทศไทย ที่ดูคล้ายตั้งอยู่บนหลังพญานาค 2 ตัว อาคารนี้เป็นทั้งพระอุโบสถ พระวิหาร และพระเจดีย์ประธาน โดยใช้อาคารในแนวตะวันออก-ตะวันตกเป็นพระวิหาร และอาคารแนวเหนือ-ใต้เป็นพระอุโบสถ ธนบัตรใบละ 1 บาท ที่รัฐบาลไทยเคยพิมพ์รูปวัดภูมินทร์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยไฮไลท์ของวัดแห่งนี้อยู่ตรงจิตรกรรมฝาผนังที่ถ่ายทอดเรื่องราวทางพุทธชาดก และความเป็นอยู่ของชาวน่านในอดีต ซึ่งเป็นภาพที่มีความเก่าแก่และงดงามเป็นอย่างมาก โดยภาพที่ได้รับความสนใจมากที่สุดคือภาพ “ปู่ม่านย่าม่าน” หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ภาพกระซิบรัก” นั่นเอง

นอกจากนี้ อีกหนึ่งไฮไลท์ที่ไม่ควรพลาดคือการชม "จิตรกรรมฝาผนังวัดภูมินทร์" หรือ “ฮูบแต้ม” ที่มีความเก่าแก่และงดงามเป็นอย่างมาก โดยเขียนขึ้นในสมัยเจ้าอนันตวรฤทธิเดช เมื่อปลายสมัยรัชกาลที่ 4 ราวปี พ.ศ. 2410-2417 โดยหนานบัวผัน จิตรกรพื้นถิ่นเชื้อสายไทลื้อ ด้วยเทคนิคสีฝุ่นบนรองพื้นดินสอพอง ภาพจิตรกรรมแบ่งออกเป็น 3 เรื่องหลักๆ ได้แก่ พุทธชาดก ตำนานพื้นบ้าน และความเป็นอยู่ของชาวน่านในอดีต

 

สิ่งที่ห้ามพลาด เมื่อมาที่วัดภูมินทร์ 

  • ภาพจิตกรรมปู่ม่านย่าม่าน หรือกระซิบรัก - ผลงานของหนานบัวผัน จิตรกรพื้นถิ่นเชื้อสายไทลื้อ ภาพนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นภาพที่สมบูรณ์แบบที่สุดทั้งด้านองค์ประกอบและอารมณ์
  • โมนาลิซ่าเมืองน่าน - ภาพสาวงามเมืองน่านชื่อว่า นางสีไว กำลังยกมือเกล้าผมมวยและตกแต่งมวยผมด้วยดอกไม้ เปลือยอกมีเพียงผ้าพาดคอปล่อยชายไปด้านหลัง
  •  ภาพจิตรกรรมฝาผนัง "คัทธนกุมาร ใช้ไม้เท้าวิเศษ ต้นชี้ตายปลายชี้เป็น ทำการกำจัดงูยักษ์"
  • สถูปเจดีย์พระมาลัยโปรดโลก - ภายในมีรูปปั้นจำลองเมืองนรก เพื่อเตือนสติไม่ให้ทำความชั่ว เป็นงานศิลป์ที่มีความน่าสนใจอีกแห่งหนึ่ง
  • พิพิธภัณฑ์วัดภูมินทร์ - ที่รวบรวมโบราณวัตถุจัดแสดงอยู่มากมายให้เราได้ชมกัน
  • ร้านขายของฝาก - สำหรับใครที่อยากได้ภาพวาดกระซิบรัก หรือภาพปู่ม่านย่าม่านชื่อดัง ภาพหญิงสาวในอดีต ภาพวิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรมของชาวน่าน สามารถมาเลือกซื้อได้ที่นี่

 

วัดภูมินทร์เป็นวัดหลวง ตั้งอยู่ในเขตพระนคร ดังปรากฏชื่อตำบลในเวียงในปัจจุบัน อยู่ใกล้กับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจังหวัดน่าน ตามพงศาวดารของเมืองน่าน พระเจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์เจ้าผู้ครองนครน่าน ได้สร้างวัดภูมินทร์ขึ้นหลังจากที่ครองนครน่านได้ 6 ปี เมื่อ พ.ศ. 2139 มีปรากฏในคัมภีร์เมืองเหนือว่าเดิมชื่อ "วัดพรหมมินทร์" แต่ตอนหลังชื่อวัดได้เพี้ยนไปจากเดิมเป็นวัดภูมินทร์ 

วัดภูมินทร์ ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ ในปี พ.ศ. 2410 ในสมัยพระเจ้า อนันตวรฤทธิเดช (ปลายสมัยรัชกาลที่ 4 ต่อรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) ซึ่งเจ้าผู้ครองนครน่านมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง จึงทรงโปรดให้ช่างหลวงบูรณะวัดเป็นครั้งใหญ่ มีจำนวนถึง 22 วัด และวัดภูมินทร์ก็ได้รับการบูรณะเป็นอันดับที่ 9 ใช้เวลาบูรณะอยู่ราว 8 ปี (พ.ศ. 2410 - 2418) 

ซึ่งกรมศิลปากรสันนิษฐานว่า การบูรณะครั้งนี้ เป็นที่มาของภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในวิหารวัดภูมินทร์นี้เอง ภาพจิตกรรมฝาผนังที่โดดเด่นเป็นพิเศษในวัดภูมินทร์แห่งนี้ก็คือ ภาพ “กระซิบบันลือโลก” หรือภาพ “ปู่ม่าน ย่าม่าน”  ซึ่งเป็นคำเรียกผู้ชายผู้หญิงชาวไทลื้อสมัยโบราณ ในลักษณะกระซิบสนทนากัน 

ภาพจิตรกรรมปู่ม่านย่าม่านนี้ เป็นภาพของชายหญิงคู่หนึ่ง ฝ่ายชายใช้มือข้างหนึ่งจับไหล่หญิงสาว และใช้มืออีกข้างป้องปากคล้ายกระซิบกระซาบที่ข้างหู ด้วยสายตาที่มีแววกรุ้มกริ่ม ภาพนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นภาพที่สมบูรณ์แบบที่สุดทั้งด้านองค์ประกอบและอารมณ์ ใครที่ได้ไปเยือนวัดภูมินทร์

นอกจากนี้ยังมีภาพอื่นๆ ที่แสดงให้เห็นถึงลักษณะการแต่งกายที่หญิงมักจะสวมผ้าซิ่นน้ำไหล ลักษณะการดำเนินชีวิต ภูมิปัญญาในอดีตอย่างการทอผ้าด้วยกี่ทอมือ หรือการติดต่อซื้อขายกับชาวต่างชาติ จิตรกรรมฝาผนังภายในวิหารที่เรียกกันว่า "ฮูปแต้ม" ซึ่งได้เขียนขึ้นในช่วงที่วัดภูมินทร์ได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ สมัยเจ้าอนันตวรฤทธิเดช เมื่อ พ.ศ. 2410 (ปลายสมัยรัชกาลที่ 4) และใช้เวลาซ่อมนานถึง 7 ปี โดยมีภาพ "ปู่ม่านย่าม่าน" อันลือเลื่อง ซึ่งได้รับยกย่องว่าเป็นภาพงามเยี่ยมของวัดภูมินทร์ ทั้งยังได้รับฉายาว่า "ภาพกระซิบรักบันลือโลก" นอกจากนี้ยังมีภาพน่าสนใจอยู่หลายภาพ เช่น ภาพธรรมเนียมการอยู่ข่วงของชาวไทลื้อ ภาพชาวพื้นเมือง ซึ่งอาจเป็นชาวเขา "เป๊อะ" ของป่าบนศีรษะ เพื่อนำมาแลกเปลี่ยนกับคนเมือง ภาพวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนเมืองน่าน ที่แสดงให้เห็นอิทธิพลตะวันตกที่เข้ามาผสมผสานในวิถีพื้นเมือง ภาพชาวต่างประเทศที่เข้ามาเมืองน่านช่วงรัชกาลที่ 5 โดยทรงผมและเครื่องแต่งกายของผู้หญิง เป็นรูปแบบเดียวกับที่กำลังเป็นที่นิยมในยุโรปขณะนั้น

----
ปู่ม่านย่าม่าน "กระซิบรัก"

ปู่ม่านย่าม่าน หรือ หนุ่มกระซิบ เป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในวัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน อันเป็นผลงานของหนานบัวผัน จิตรกรพื้นถิ่นเชื้อสายไทลื้อ ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นผลงานที่ปราณีตและเป็นภาพที่โดดเด่นประจำวัดภูมินทร์ โดยเป็นภาพชายหญิงคู่หนึ่งกำลังกระซิบสนทนา และมีชื่อเสียงว่าเป็นภาพ "กระซิบรักบันลือโลก" และกลายเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของเมืองน่านที่ไปปรากฏอยู่ในสินค้าจำนวนมาก เช่น เสื้อยืด ไปรษณียบัตร หรือแม้แต่ข้าวของแต่งบ้าน

----
โมนาลิซ่าเมืองน่าน

นางสีไว นางสีไวย หรือ นางแก้วสีไว เป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในวัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน ผลงานของหนานบัวผัน จิตรกรพื้นถิ่นเชื้อสายไทลื้อ ภาพดังกล่าวเป็นภาพนางสีไวตัวละครจากเรื่อง คัทธณะกุมารชาดก โดยภาพแสดงให้เห็นถึงการแต่งกายของสตรีน่านในอดีต เช่นเดียวกับ ปู่ม่านย่าม่าน ภาพนางสีไวก็เป็นหนึ่งในภาพที่มีชื่อเสียงด้วยความงดงามอ่อนช้อยที่ถ่ายทอดอารมณ์และความงามของหญิงสาว จนได้สมญาว่าเป็น "โมนาลิซาเมืองไทย" หรือ "โมนาลิซาเมืองน่าน" ก็ว่า

----
คัทธนกุมารปราบงูยักษ์

คัทธนกุมาร ใช้ไม้เท้าวิเศษ ต้นชี้ตายปลายชี้เป็น ทำการกำจัดงูยักษ์ และใช้พิณสามสายชุบชีวิตชาวเมือง ช่างเขียนยังได้สอดแทรกภาพธรรมชาติต่างๆ เช่น หมู หมา ไก่ แมว สัตว์เลี้ยงต่างๆ ที่ฟื้นคืนมาด้วย รวมถึงภาพต้นกล้วยและสัปปะรดที่เหมือนจริงมาก (อ่านเรื่อง คันธนกุมารชาดก คลิกที่นี่)

----
สถูปเจดีย์พระมาลัยโปรดโลก

สถูปเจดีย์พระมาลัยโปรดโลก วัดภูมินทร์ เป็นสถูปปิดทึบ มีประตูทางเข้าออกทางเดียว ภายในจะเป็นรูปปั้นจำลองนรกสำหรับคนที่ทำบาปว่าจะได้รับผลกรรมเช่นไร เพื่อเป็นการย้ำเตือนใจ

----
พิพิธภัณฑ์วัดภูมินทร์

พิพิธภัณฑ์วัดภูมินทร์ อยู่บริเวณทางเข้า เป็นที่รวบรวมโบราณวัตถุต่าง ๆ ให้ได้ชมกัน

----
ร้านขายของฝากวัดภูมินทร์

สิ่งหนึ่งที่ไม่ควรพลาดซื้อกลับไปฝากคนที่บ้านนั่นก็คือของฝากจากวัดภูมินทร์ว่าท่านได้มาเยือนจังหวัดน่านแบบถึงจังหวัดน่านแล้ว ไม่ว่าจะเป็นถุงผ้า เสื้อยืด ภาพวาด ลวดลายกระซิบรัก เป็นต้น

----
วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร
#วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร #อุโบสถหลวง #พระเจ้าหลวง #หอพระไตรปิฎก #วิหารพระเจ้าทันใจ

วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร เดิมมีชื่อเรียกว่า "วัดหลวง" หรือ “วัดหลวงกลางเวียง” ตั้งอยู่ตรงข้ามพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน (หอคำ) สร้างขึ้นในปีสมัยพระเจ้าปู่แข็ง พ.ศ.1949 เป็นวัดหลวงในเขตนครน่าน เพื่อใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีสำคัญทางพุทธศาสนา และพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา 

ในอดีตตามศิลาจารึกหลักที่ 74 ซึ่งถูกค้นพบภายในวัดกล่าวว่า พญาพลเทพฤาชัย เจ้าเมืองน่านได้ปฏิสังขรณ์บูรณะวิหารหลวงเมื่อ พ.ศ. 2091 ลักษณะสถาปัตยกรรมของวัดพระธาตุช้างค้ำนี้ สะท้อนให้เห็นอิทธิพลของศิลปะ สุโขทัย อาทิ เจดีย์ทรงลังกา ( ทรงระฆัง) รอบฐานองค์พระเจดีย์ก่ออิฐถือปูนและปั้นเป็นรูปช้างครึ่งตัว ด้านละ 5 เชือก และที่มุมทั้งสี่อีก 4 เชือก ดูคล้ายจะเอาหลังหนุน หรือ “ค้ำ” องค์เจดีย์ไว้ ลักษณะคล้ายวัดช้างล้อม จังหวัดสุโขทัย และถายในวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปสำริดยืนปางประทานอภัย อายุราวครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 19 ตรงกับสมัยสุโขทัยตอนปลาย มีลักษณะคล้ายพระพุทธรูปปางประทานอภัยที่วัดราชธานี จังหวัดสุโขทัย

 

สิ่งที่ห้ามพลาด เมื่อมาที่วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร

  • อุโบสถหลวง  - มีพระพุทธรูปพระเจ้าหลวงที่ประดิษฐานอยู่ด้านในวิหาร
  • เจดีย์ช้างค้ำ ทรงลังกา - เจดีย์ทรงลังกาที่ได้รับอิทธิพลทางด้านศิลปะสุโขทัย
  • หอพระไตรปิฎก - โครงสร้างเหมือนวิหารและโบสถ์ มีสิงห์ยืนอยู่ตรงเชิงบันได
  •  ภายในหอพระไตรปิฎก - ด้านในหอไตรมีหีบเก็บพระไตรปิฎกโบราณ
  • วิหารพระเจ้าทันใจ - จุดเซียมซีที่ทุกคนมักจะมากราบไหว้ ขอพร

 

พระเจ้าหลวง พระประธานเป็นปูนปั้นขนาดใหญ่ศิลปะเชียงแสน ฝีมือสกุลช่างน่านที่มีพุทธลักษณะงดงามยิ่งของเมืองน่าน พระวิหารหลวงวัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหารเป็นวิหารขนาดใหญ่รูปทรงสร้างตามสถาปัตยกรรมทางภาคเหนือ ลักษณะภายในโอ่โถงด้านหน้ามีสิงห์คู่ยืนตรงเชิงบันไดด้านละตัว มีทางเข้า 3 ทาง ประตูกลางทำเป็นประตูใหญ่ และ ประตูเล็กอยู่ด้านซ้าย และ ด้านขวามีทางขึ้นเป็นประตูเล็กๆ ตรงข้ามพระประธานด้านทิศตะวันออก และ ทิศตะวันตกอีก 2 ข้าง ทำหลังคาซ้อนกัน 2 ชั้น มุขลดด้านหน้า และ ด้านหลัง หน้าบันตีด้วยแผ่นกระดานเรียงต่อกัน แล้วประดับที่ขอบเสาด้านหน้าทุกต้นตามลักษณะสถาปัตยกรรมล้านนาไทย ภายในพระวิหารกว้างขวาง มีเสาปูนกลมขนาดใหญ่ ขนาด 2 คนโอบรอบ จำหลักลวดลายปูนปั้นนูนสูงไว้ เหนือจากระดับพื้นพระวิหาร 1.50 เมตร เป็นลวกลายกนกระย้าย้อยเหมือนลวดลายที่เสาในวิหาร วัดภูมินทร์ ยังมีพระพุทธรูปทองคำปางลีลา คือพระพุทธนันทบุรีศรีศากยมุนี

เจดีย์ช้างค้ำ พระธาตุเจดีย์ช้างค้ำวรวิหารเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุไว้ภายใน นับเป็น ปูชนียสถานสำคัญ เป็นเจดีย์ที่ได้รับอิทธิพลทางด้านศิลปะสุโขทัย จากเจดีย์ทรงลังกา คือ เจดีย์วัดช้างล้อมนั่นเอง พระธาตุเจดีย์สร้างด้วยอิฐถือปูน มีสัณฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสซ้อนกัน 3 ชั้น กว้างด้านละ 9 วา ฐานจากชั้นแรกสูงถึงชั้นสอง มีรูปชางค้ำอยู่ในลักษณะเหมือนฐานรองรับไว้ด้านละ 6 เชือก รวมทั้งหมด 24 เชือก ช้างแต่ละตัว โผล่ส่วนหัวลอยออกมาครึ่งตัว ขาหน้าทั้งคู่ยื่นพ้นออกมาจาก เหลี่ยมฐาน เหนือขึ้นไปเป็นฐานปัทม์ (ฐานบัว) ซ้อนกัน 3 ชั้น และเป็นองค์ระฆังแบบลังกา ต่อจากองค์ระฆังทำเป็นฐานเขียงรองรับมาลัยลูกแก้วลดหลั่นกันไปเป็นส่วนยอด ปัจจุบันพระธาตุเจดีย์ช้างค้ำได้รับการบูรณะซ่อมแซมและหุ้มด้วยแผ่นทองเหลืองทั้งองค์ มีความสวยงามมาก

หอพระไตรปิฎก หอไตรวัดช้างค้ำวรวิหาร สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ ดังปรากฏในพระประวัติ ของพระองค์ว่า "ร.ศ. 127 พ.ศ. 2453 ก่อสร้างหอพระไตรปิฏก ในบริเวณวัดช้างค้ำ 1 หลัง 8 ห้อง ยาว 16 วา 1 ศอก กว้าง 5 วา 2 ศอก สูงตั้งแต่ดินถึงอกไก่ 13 วา หลังคาทำเป็นชั้น ๆ ก่ออิฐทาสี เครื่องบนไม้สัก มุงกระเบื้องไม้สัก ทำอย่างแน่นหนา มีเพดานจั่ว 2 ข้าง และเพดาน ทำด้วยลวดลายต่าง ๆ พระสมุห์อิน เจ้าอาวาสวัดหัวข่วง กับจีนอิ๋วจีนซาง เป็นสล่าสิ้นเงิน 12,558 บาท ลักษณะโครงสร้างสถาปัตยกรรมมีลักษณะอย่างเดียวกับวิหารและโบสถ์ ตั้งอยู่ด้านหน้า คู่กับ พระวิหารหลวง อาคารก่ออิฐโบกปูน ยกพื้นสูงมีสิงห์ยืนอยู่ด้านหน้า ตรงเชิงบันใดด้านละ 1 ตัว ตั้งเสาราย รับหลังคาเชิงชายแทนผนัง และก่อผนังปิด ทำเป็นห้องไว้พระธรรม และพระไตรปิฏก

วิหารพระเจ้าทันใจ พระเจ้าทันใจ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่ พงศาวดารเมืองน่านบันทึกไว้ว่า เจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ ทรงสร้างขึ้นหลังจากเดินทางไปเฝ้าพระบามสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเมื่อพุทธศักราช 2331 พระพุทธรูปพระเจ้าทันใจ หมายถึง พระพุทธรูปที่สร้างสำเร็จโดยรวดเร็วทันใจปรารถนา ภายในวันเดียว ถือว่ามีอานิสงส์มาก โดยมีความเชื่อว่าต้องเริ่มสร้างตั้งแต่รุ่งเช้าเมื่อพระอาทิตย์แรกขึ้น ทั้งการปั้นหล่อตกแต่งให้ได้พุทธลักษณะที่งดงามจนถึงพระอาทิตย์ตกดินเป็นเวลาสิ้นสุดการสร้าง นอกจากนี้ยังมีข้อกำหนดว่า ผู้ร่วมสร้างพระเจ้าทันใจต้องรักษาศิลให้บริสุทธิ์ด้วยกาย วาจา ใจ พระพุทธรูปพระเจ้าทันใจสร้างด้วยอานิสงส์ความศรัทธาอย่างแรงกล้าเช่นนี้ จึงนับถือว่าเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ดลบันดาลแก่ผู้กราบไหว้บูชาสัมฤทธิ์ผลตามที่ปรารถนา

----
อุโบสถหลวงวัดพระธาตุช้างค้ำ

พระเจ้าหลวง พระประธานเป็นปูนปั้นขนาดใหญ่ศิลปะเชียงแสน ฝีมือสกุลช่างน่านที่มีพุทธลักษณะงดงามยิ่งของเมืองน่าน พระวิหารหลวงวัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหารเป็นวิหารขนาดใหญ่รูปทรงสร้างตามสถาปัตยกรรมทางภาคเหนือ

----
เจดีย์ช้างค้ำทรงลังกา

เจดีย์ช้างค้ำ พระธาตุเจดีย์ช้างค้ำวรวิหารเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุไว้ภายใน นับเป็น ปูชนียสถานสำคัญ เป็นเจดีย์ที่ได้รับอิทธิพลทางด้านศิลปะสุโขทัย จากเจดีย์ทรงลังกา คือ เจดีย์วัดช้างล้อมนั่นเอง

----
หอพระไตรปิฎก

หอพระไตรปิฎก ลักษณะโครงสร้างสถาปัตยกรรมมีลักษณะอย่างเดียวกับวิหารและโบสถ์ ตั้งอยู่ด้านหน้า คู่กับ พระวิหารหลวง

----
หีบเก็บพระไตรปิฎกโบราณ

หีบเก็บพระไตรปิฎกโบราณ ตั้งอยู่ภายในหอไตร ด้านในสุด มีขนาดใหญ่มาก

----
วิหารพระเจ้าทันใจ

เดินมาทางด้านหลังของวิหารหลวงและพระธาตุช้างค้ำ เป็นที่ประดิษฐานของพระเจ้าทันใจ เข้าไปไหว้ขอพรพระให้สมปรารถนาทันใจกันดีกว่า

----
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน
#พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน #งาช้างดำ #เครื่องปั้นดินเผาเคลือบ #อุโมงค์ซุ้มลีลาวดี

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติประจำจังหวัดน่าน ตั้งอยู่ภายในคุ้มของอดีตเจ้าผู้ครองนครน่าน (หอคำ) มีพื้นที่ทั้งสิ้น 14 ไร่ 2 งาน 32 ตารางวา รายล้อมด้วยถนนที่สำคัญได้แก่ ถนนผากองด้านทิศตะวันออก ถนนสุริยพงษ์ด้านทิศใต้ และถนนมหาพรหมด้านทิศเหนือ

อาคารพิพิธภัณฑ์เดิมเป็นหอคำที่พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ พระเจ้าน่านทรงสร้างขึ้นเป็นที่ประทับ เมื่อพุทธศักราช 2446 เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนสองชั้น แบบตรีมุขหรือรูปตัวที รูปแบบผสมผสานระหว่างแบบศิลปะตะวันตกและศิลปะไทย โครงสร้างภายในเป็นไม้ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีมุขออกด้านหน้า หลังคามุงด้วยไม้แป้นเกล็ด เมื่อเจ้ามหาพรหมสุรธาดา เจ้าผู้ครองนครน่านองค์สุดท้ายถึงพิราลัย เจ้านายบุตรหลานของเจ้าผู้ครองนครน่านจึงไม้มอบหอคำหลังนี้พร้อมที่ดินทั้งหมดให้แก่รัฐบาล เพื่อใช้เป็นศาลากลางจังหวัดน่าน 

ปีพุทธศักราช 2475 ต่อมาเมื่อกระทรวงมหาดไทยได้ก่อสร้างศาลากลางจังหวัดขึ้นใหม่ กรมศิลปากรจึงได้ขอรับมอบอาคารหอคำ เพื่อให้เป็นสถานที่จัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน ขึ้นในปีพุทธศักราช 2517 และประกาศจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน ขึ้นในปีพุทธศักราช 2528 อย่างเป็นทางการ ภายหลังการจัดแสดงเสร็จสมบูรณ์แล้ว สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานประกอบพิธีเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน ให้ประชาชนเข้าชมอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พุทธศักราช 2530

 

สิ่งที่ห้ามพลาด เมื่อมาที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน

  • หอคำ - อาคารแบบยุโรปสีขาวที่ผสมผสานกับสถาปัตยกรรมท้องถิ่นเมืองน่านหลังนี้ คือสถานที่บรรจุสมบัติล้ำค่าอันเป็นมรดกตกทอดของน่านจากอดีตสู่ปัจจุบัน 
  • งาช้างดำ - วัตถุมงคลคู่บ้านคู่เมืองน่าน ได้มาในสมัยพระยาการเมืองเจ้าผู้ครองนครน่านองค์ที่ 5
  • เครื่องปั้นดินเผาเคลือบ - อายุราวพุทธศตวรรษที่ 21 จากเตาเผาบ่อสวก ตำบลสวก อำเภอเมือง จังหวัดน่าน
  • พระพุทธรูปปางมารวิชัย - ศิลปะล้านนา อิทธิพลศิลปะพม่า พุทธศตวรรษที่ 25
  • ซุ้มลีลาวดี - จุดถ่ายรูปยอดฮิตของนักท่องเที่ยว โดยต้นลีลาวดีนั้นจะขึ้นเป็นแถวเรียงราย 2 ข้างทางเดิน และแผ่ขยายโค้งเข้าหากัน เป็นอุโมงค์ต้นไม้ที่สวยงดงามมากๆ

 

ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน จัดแสดง สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของเมืองน่านทั้ง โบราณวัตถุ ศิลปะ โบราณคดี และชาติพันธุ์ วิทยาประจำท้องถิ่นมาจัดแสดงให้ชม อย่างมีระบบและ ระเบียบสวยงาม ใช้แสงธรรมชาติเข้าช่วย ตัวอาคารโปร่งมีหน้าต่างโดยรอบ ผู้มาเที่ยวจะรู้สึกเหมือนเดินอยู่ในบ้านมากกว่าพิพิธภัณฑ์ ทำให้เพลิดเพลินในการเดินชมสิ่งของที่จัดแสดง

ส่วนที่เป็นห้องจัด แสดงชั้นล่าง การจัดแสดงเรื่องราวชีวิตความเป็นอยู่และเครื่องใช้ของชนกลุ่มน้อยในเมืองน่าน รวม 5 เผ่าด้วยกัน คือ ไทยลื้อ แม้ว เย้า ถิ่น และผีตองเหลือง  เช่น ลักษณะอาคาร บ้านเรือนและเครื่องใช้ใน ชีวิตประจำวัน การทอผ้าและผ้าพื้นเมืองน่านแบบต่างๆ ที่สวยงามมาก การสาธิตงานประเพณีและความเชื่อ ต่างๆ เช่น การแข่งเรือ จุดบ้องไฟสงกรานต์ และพิธีสืบชะตา เป็นต้น 

ส่วนบริเวณห้องจัดแสดงชั้นบน เป็นการจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของเมืองน่าน การสร้างเมือง และ โบราณสถานที่สำคัญ รูปถ่ายโบราณ งานประณีตศิลป์ เครื่องใช้ เงินตรา อาวุธ ศิลาจารึก และเครื่องถ้วยชามที่ค้นพบในเมืองน่าน

 

----
หอคำ

หอคำนครน่าน จากที่ประทับเจ้าผู้ครองนคร สู่ศาลากลางจังหวัด และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

----
งาช้างดำ

งาช้างดำ มีลักษณะเป็นงาปลียาว 97 เซนติเมตร วัดโดยรอบตรงส่วนใหญ่ที่สุด 47 เซนติเมตร โพรงตอนโคนลึก 14 เซนติเมตร สีออกน้ำตาลเข้มไม่ดำสนิท มีจารึกอักษรล้านนาว่า "กิ่งนี้หนักหนึ่งหมื่นห้าพัน" หรือประมาณ 18 กิโลกรัม สันนิษฐานว่าเป็นงาข้างซ้ายเพราะมีรอยเสียดสีกับงาชัดเจน ชาวจังหวัดน่านถือว่า งาช้างดำเป็นวัตถุมงคลคู่บ้านคู่เมืองน่านและถือเป็นเอกลักษณ์หนึ่งของจังหวัดน่าน เป็นวัตถุโบราณที่หายากและมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์เป็นอย่างมาก

ความเป็นมาของงาช้างดำนี้ไม่มีหลักฐานแน่ชัด มีเพียงตำนานเล่าสืบต่อกันมา 2 เรื่อง

เรื่องแรก ในสมัยพระเจ้าสุมนเทวราช เจ้าผู้ครองนครเมืองน่าน (พ.ศ. 2353-2368) มีพรานคนเมืองน่านได้เข้าป่า ล่าสัตว์เข้าไปถึงเขตแดนระหว่างไทยกับเชียงตุงได้พบซากช้างตัวดำสนิทตายในห้วย พอดีกับพรานชาวเชียงตุงมาพบด้วยพรานทั้งสองจึงแบ่งงาช้างดำกันคนละข้าง ต่างคนก็นำมาถวายเจ้าเมือง ต่อมาเจ้าเมืองเชียงตุง ได้ส่งสารมาทูลเจ้าสุมนเทวราชว่า "ตราบใดงาช้างดำคู่นี้ไม่สูญหาย เมืองน่านกับเมืองเชียงตุงจะเป็นมิตรไมตรีกันตลอดไป..."

เรื่องที่สอง เมืองน่านยกทัพไปล้อมเมืองเชียงตุงหลายเดือน ทำให้ชาวเมืองเชียงตุงเดือดร้อน โหรเมืองเชียงตุงทูลเจ้าเมืองว่า "เป็นเพราะมีงาช้างดำอยู่ด้วยกัน ทางที่ดีควรแยกออกจากกัน..." จึงนำงาช้างดำกิ่งหนึ่งมอบให้กองทัพเมืองน่านแล้วกระทำสัตย์สาบานเป็นมิตรกันตลอดกาล ความสำคัญของงาช้างดำนี้เชื่อกันว่า พญาการเมือง เจ้าผู้ครองนครน่านองค์ที่ 6 ราวพุทธศตวรรษที่ 20 ได้ทำพิธีสาปแช่งเอาไว้ว่า "ให้งาช้างดำนี้เป็นของคู่บ้านคู่เมืองน่านตลอดไป ผู้ใดจะนำไปเป็นสมบัติส่วนตัวมิได้ ต้องไว้ที่หอคำหรือวังเจ้าผู้ครองนครน่านเท่านั้น..."

ในส่วนของ ครุฑ ที่แบกรับงาช้างดำไว้นั้น แกะสลักจากไม้สักทั้งท่อนโดยช่างสกุลน่าน สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2469 เนื่องจากช่วงนั้นมีข่าวว่าเจ้าเมืองฝ่ายเหนือบางเมืองคิดแข็งข้อก่อการกบฏต่อราชวงค์จักรี เจ้าผู้ครองนครน่านจึงสั่งให้ทำพระครุฑพ่าห์ขึ้นมาแบกรับงาช้างดำวัตถุคู่บ้านคู่เมืองไว้ เพื่อเป็นการแสดงสัญลักษณ์ให้เห็นว่า "นครน่านในยุคนั้นยังคงจงรักภักดีต่อราชวงศ์จักรีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์อยู่ไม่เสื่อมคลาย..."

----
เครื่องปั้นดินเผาเคลือบ

เครื่องปั้นดินเผาเคลือบ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 21 จากเตาเผาบ่อสวก ตำบลสวก อำเภอเมือง จังหวัดน่าน

----
พระพุทธรูปปางมารวิชัย

พระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะล้านนา อิทธิพลศิลปะพม่า พุทธศตวรรษที่ 25

----
ซุ้มลีลาวดี

ความสวยงามของซุ้มลีลาวดี ของที่นี่ มีให้เห็นในโลกโซเชียล เต็มไปหมด ความสวยงามขึ้นอยู่กับฤดูกาล โดยเฉพาะช่วงหน้าแล้งที่ใบของต้นลีลาวดี นั้นร่วงหมด เหลือแต่กิ่งก้านที่โค้งเข้าหากัน กลายเป็นจุดที่นักท่องเที่ยว และคนท้องถิ่น ทุกเพศทุกวัย นิยมเข้าไปถ่ายรูป ความสวยงามของซุ้มลีลาวดีกันอย่างเนืองแน่น โดยเฉพาะช่วงเช้า และเย็น ที่แสงเหมาะแก่การถ่ายรูปเป็นอย่างยิ่ง  (อาจจะใช้เวลามากหน่อย สำหรับการถ่ายรูปที่นี่ เพราะคนเยอะจริงๆ)

มนต์เมืองน่านมีเสน่ห์สำคัญทางการท่องเที่ยวอยู่ ณ บริเวณ“ข่วงเมือง” ที่อวลไปด้วยเสน่ห์ของสามเหลี่ยมแห่งศิลปวัฒนธรรม อันได้แก่ “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน” ซึ่งมีงาช้างดำของโบราณเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองน่าน และอุโมงค์ต้นลีลาวดี จุดถ่ายรูปสุดโรแมนติก, “วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร” โดยมีสถาปัตยกรรมภายในวัดซึ่งได้รับอิทธิพลศิลปะสมัยสุโขทัย และ “วัดภูมินทร์” ที่โดดเด่นไปด้วยจิตรกรรมฝาผนัง“ปู่ม่าน-ย่าม่าน” หรือ “ภาพกระซิบรักบันลือโลก” อันสุดคลาสสิก

นอกจากนี้ในเมืองน่านก็ยังมีวัดน่าสนใจอีกหลากหลาย ซึ่งแต่ละวัดล้วนต่างยังคงไว้ซึ่งความผูกพันกับชาวบ้านและวิถีชุมชนอย่างเหนียวแน่น ภาพของพ่ออุ๊ยแม่อุ๊ยพาลูกหลานมาทำบุญ ไหว้พระ ฟังเทศน์ฟังธรรม หรือมาทำกิจกรรมงานบุญต่างๆที่วัดยังคงมีให้เห็นกันชินตาในเมืองน่าน

พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้กัน

ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น

เที่ยวน่านให้ถึงน่าน

"เที่ยวน่านให้ถึงน่าน" พาเที่ยว 3 สถานที่ มาน่านทั้งที่ต้องมาให้ถึงน่าน 

น่าน  สถานที่อันเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมกลางเมืองน่าน ซึ่งทั้ง 3 สถานที่ต่างเป็นจุดสำคัญของเมืองน่าน ให้ได้เดินเช็คอินและตามหาภารกิจสนุก ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังในวัดภูมินทร์ วิหารและเจดีย์ที่น่าเลื่อมใสในวัดพระธาตุช้างค้ำ และสถาปัตยกรรมอันงดงามภายในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติน่าน ตามไปดูกันเลย